top of page

โรคตาที่พบได้บ่อยเมื่อวัยเกินเลข 4


พออายุย่างเข้าวัยเลข 4 หลายๆคนก็น่าจะเริ่มรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงของสายตา เข่น เริ่มมองเห็นระยะใกล้ๆไม่ค่อยชัด หรือต้องใส่แว่นอ่านหนังสือ สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น จริงๆแล้วไม่ใช่โรค เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงปกติที่เกิดขึ้นตามอายุ

แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อคุณอายุเข้าสู่วัยเลข 4 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณอายุมากขึ้นเข้าสู่วัยเลข 5 หรือเลข 6 คุณก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะเป็นโรคตาบางโรค ที่สามารถทำให้การมองเห็นของคุณสูญเสียไปจริงๆ

เรามาดูกันนะคะ ว่ามีโรคอะไรบ้าง และเราจะมีวิธีป้องกันได้อย่างไร?

1. ต้อกระจก เป็นการเสื่อมสภาพของเลนส์ตาตามอายุ จากเลนส์ตาที่เคยใสและมีความยืดหยุ่น กลายเป็นแข็งตัวและมีสีที่ขุ่นมัวลง เป็นสาเหตุของการตาบอดที่พบได้บ่อยที่สุด แต่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการผ่าตัดใส่เลนส์แก้วตาเทียม

2. ต้อหิน เป็นโรคที่เส้นประสาทตาถูกทำลาย ส่วนมากมักจะเกิดจากความดันในลูกตาที่สูงขึ้น ต้อหินเป็นสาเหตุอันดับต้นๆของการตาบอดอย่างถาวร การมองเห็นส่วนที่เสียไปแล้ว จะไม่สามารถรักษาให้กลับคืนมาได้อีก

3. โรคจอประสาทตาเสื่อม เป็นโรคที่พบบ่อยขึ้นตามอายุที่มากขึ้น สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าน่าจะเกิดจากความเสื่อมของเซลล์จอประสาทตาตามกระบวนการเสื่อมสภาพของร่างกาย โรคนี้อาจจะไม่ได้ทำให้ตาบอดสนิท แต่จะทำให้มองเห็นภาพตรงกลาง(บริเวณที่เราจะตั้งใจจะมอง)ได้ไม่ชัดเจน ทำให้มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

4. เบาหวานขึ้นจอประสาทตา เกิดจากเส้นเลือดเล็กๆในจอประสาทตาถูกทำลายจากโรคเบาหวาน ทำให้มีการบวมหรือเลือดออกในจอประสาทตา ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการตาบอด

แล้วคนที่มีอาการอะไรบ้าง ที่ควรจะรีบไปพบคุณหมอตา?

ในกรณีของโรคต้อหิน โรคจอประสาทตาเสื่อม และโรคเบาหวานขึ้นจอตา ในระยะแรกเริ่มคนไข้ส่วนมากมักจะไม่มีอาการเตือนใดๆเลย!

ส่วนในโรคต้อกระจก อาการมักเริ่มจากรู้สึกว่าตามัวลง โดยเฉพาะในที่แสงน้อย ต้องใช้แสงสว่างมากขึ้นกว่าเดิมเวลาอ่านหนังสือ หรือมีความมั่นใจน้อยลงเวลาขับรถกลางคืน

แล้วจะมีวิธีป้องกันได้อย่างไร?

ทุกคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรจะไปพบคุณหมอตา เพื่อตรวจตาอย่างละเอียดอย่างน้อยหนึ่งครั้ง

ถึงแม้ว่าจะไม่เคยมีอาการผิดปกติอะไรเลยก็ตาม

เพราะถ้าตรวจพบโรคและรักษาได้เร็ว ก็จะช่วยให้สามารถปกป้องรักษาการมองเห็นไว้ได้

ส่วนคนที่เป็นเบาหวาน ควรพบคุณหมอตาอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งค่ะ

‍‍‍‍‍‍‍หมอแนน‍ รศ.พญ.มัญชิมา มะกรวัฒนะ


บทความที่เกี่ยวข้อง

bottom of page